อธิบายและยกตัวอย่าง
ทักษะการอธิบายและยกตัวอย่าง
การอธิบายนับเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อการเรียนการสอน เพราะผู้สอนจะช่วยให้ผู้เรียนได้เกิดความกระจ่างและเข้าใจเนื้อหาวิชาได้อย่างถูกต้อง ดังนั้นในการจัดกระบวน
การเรียนการสอน ผู้สอนจึงมีความจำเป็นที่จะต้องสอดแทรกอธิบายเพิ่มเติมเข้าไปในทุกขั้นตอนของเนื้อหาที่เห็นว่าสำคัญหรือเป็นเนื้อหาที่ยากต่อการเข้าใจ
ความหมายของการอธิบาย
นักวิชาการได้ให้ความหมายของการอธิบายไว้ดังนี้
ลัดดาวัลย์ พิชญพจน์ (ม.ป.ป., หน้า 54) อธิบายว่า การอธิบาย หมายถึง การขยายข้อความ เนื้อหรือเรื่องราวต่างๆ เพื่อให้เกิดความชัดเจนและเข้าใจมากขึ้น
เฉลิมศรี ทองแสง (2538, หน้า 65) อธิบายว่า การอธิบาย หมายถึง การพูดเพื่อทำให้ผู้อื่นเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งที่ตนพูด เช่น มีลักษณะ ขนาด รูปร่าง ลำดับขั้น วิธีการ ฯลฯ อย่างไร การอธิบายที่ดีจะต้องได้เนื้อหาสาระครบถ้วน และเข้าใจง่าย การอธิบายจึงมักจะมีการยกตัวอย่างประกอบ เพื่อช่วยให้การอธิบายชัดเจนมากขึ้น
ดังนั้น การอธิบาย คือ การอธิบายขยายข้อความ หรือเรื่องราวต่างๆ โดยมีการยกตัวอย่างประกอบ เพื่อช่วยให้การอธิบายชัดเจนยิ่งขึ้น\
ทักษะการอธิบาย
หมายถึง ความสามารถในการพูดแสดงรายละเอียดและให้ตัวอย่างให้ผู้เรียนเข้าใจ หายจากข้อสงสัย เกิดความชัดเจนในสิ่งนั้น หรือขยายความในลักษณะที่ช่วยให้ผู้อื่นเข้าใจเรื่องราวต่าง ๆ ได้ชัดเจนขึ้น ซึ่งอาจกระทำได้โดยการบอก การตีความ การสาธิต การยกตัวอย่าง ฯลฯ บางครั้งเพื่อให้การอธิบายเป็นที่เข้าใจได้ง่าย อาจจะใช้วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ประกอบการอธิบาย ก็จะช่วยทำให้ผู้ฟังสนใจและเข้าใจความหมายได้ดีขึ้น ทักษะการอธิบายมีความสำคัญและจำเป็นต่อกระบวนการเรียนการสอน ทุกระดับ โดยเฉพาะปัจจุบันพบว่า วิธีสอนที่ครูส่วนมากนิยมคือการสอนแบบบรรยาย และการอธิบาย ซึ่งทักษะการอธิบายจัดว่าเป็นส่วนหนึ่งที่จำเป็นสำหรับการสอนสองวิธีนี้ การมีทักษะในการอธิบายที่ดีมีความหมายและสำคัญสำหรับครูมาก ทักษะการอธิบายควรจะได้รับการฝึกหัดและติดตามผลอยู่เสมอว่าช่วยให้ผู้ฟังเข้าใจเรื่องราวที่ อธิบายมากน้อยเพียงใด แล้วหาทางแก้ไขปรับปรุงวิธีการอธิบายให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ข้อควรระลึกถึงในการฝึกทักษะการอธิบาย
1. ต้องเตรียมตัวล่วงหน้าว่าจะอธิบายอย่างไร จึงจะเหมาะสมกับเรื่อง และทำให้ผู้อื่นเข้าใจในสิ่งที่เราต้องการสื่อความหมายออกไป
2. ความแตกต่างระหว่างกลุ่มหรือบุคคลมีผลต่อการอธิบาย กล่าวคือ การอธิบายที่ดีหรือเหมาะสม อาจจะเหมาะกับนักเรียนกลุ่มหนึ่งแต่อาจจะไม่เหมาะกับนักเรียนอีกกลุ่มหนึ่งก็ได้
3. ความพร้อมของครู เช่น ความรู้ในเรื่องที่จะอธิบาย ความสนใจ และความสามารถของครูจะช่วยให้ครูอธิบายได้ดีขึ้น
4. ใช้สื่อการสอนในการช่วยอธิบายสิ่งต่าง ๆ ตามความเหมาะสม
5. บุคลิกภาพของผู้พูดมีผลต่อการอธิบายอย่างยิ่ง
6. การจะอธิบายสิ่งใด ๆ ก็ตามให้ผู้อื่นฟัง ให้ลองถามตัวเองถึงเรื่องที่จะอธิบายให้คนอื่นฟังว่า ถ้าตัวเองเป็นผู้ฟังเรื่องนี้จะเข้าใจมากน้อยเพียงไร
วิธีการอธิบายที่ได้ผลดี
วิธีการอธิบายที่จะช่วยให้การอธิบายได้ผลดียิ่งขึ้นนั้น ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ (เฉลิมศรี ทองแสง, 2538, หน้า 65) ดังต่อไปนี้
1. กริยา ท่าทางของครู ควรมีกริยาท่าทางคล่องแคล่ว ยิ้มแย้ม เป็นกันเอง น้ำเสียงน่าฟัง สายตาจับที่นักเรียนอย่างทั่วถึง
2. ใช้อุปกรณ์ประกอบการอธิบาย ครูควรใช้อุปกรณ์มาประกอบการอธิบาย เพื่อให้นักเรียนเกิดความเข้าใจได้ง่าย รวดเร็ว และถูกต้อง อุปกรณ์ที่ใช้มีหลายชนิด อาจเป็นของจริง
ของจำลอง รูปภาพ แผนที่ แผนภูมิ ฯลฯ
3. การยกตัวอย่าง ครูควรนำตัวอย่างมาประกอบการอธิบาย เพื่อให้นักเรียนมีความเข้าใจถูกต้อง รวดเร็ว และสาระที่อธิบายมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ น่าสนใจ ตัวอย่างที่นำมาประกอบ
การอธิบายอาจจะเป็น คำพังเพย สุภาษิต โคลง กลอน คำขวัญ คติพจน์ เหตุการณ์เรื่องราวบุคคล สิ่งของ เป็นต้น
4. การเปรียบเทียบ ครูอาจนำสิ่งที่นักเรียนรู้จักดีอยู่แล้วมาเปรียบเทียบกับสิ่งที่ครูอธิบาย เพื่อให้นักเรียนมีความเข้าใจรวดเร็วและง่ายขึ้น เช่น เปรียบเทียบผิวโลกของเรามีลักษณะคล้ายผลมะกรูด หัวใจของคนกับเครื่องปั๊มน้ำ เป็นต้น
5. การทำกิจกรรม หลังจากที่ครูอธิบายให้นักเรียนฟังแล้ว บางเรื่องอาจต้องให้นักเรียนได้ฝึก ทดลองทำ เพื่อให้นักเรียนมีความเข้าใจดียิ่งขึ้น และฝึกการแก้ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น การทำแบบฝึกหัดคณิตศาสตร์ ภาษาไทย การฝึกหัดตอนกิ่ง ติดตา เป็นต้น
ขั้นตอนการฝึกทักษะการอธิบายและยกตัวอย่าง
การอธิบายและยกตัวอย่าง ลัดดาวัลย์ พิชญพจน์ (ม.ป.ป., หน้า 55) และเฉลิมศรี ทองแสง (2538, หน้า 66) ได้กล่าวถึงขั้นตอนในการฝึกทักษะการอธิบายและยกตัวอย่างไว้ดังนี้
1. เลือกหัวข้อที่สามารถให้ตัวอย่างประกอบได้มากๆ
2. ขยายข้อความสำคัญโดยการยกตัวอย่างจากง่ายไปหายาก
3. ตัวอย่างที่ใช้ควรเหมาะสมกับพื้นฐานความรู้และประสบการณ์ของนักเรียน
4. มีการทดสอบความเข้าใจของนักเรียน
การอธิบายจะสามารถทำให้ผู้เรียนมีความเข้ารู้ ความเข้าใจมากยิ่ง เมื่อสามารถนำการยกตัวอย่างมาประกอบการอธิบายด้วยเสมอ
อ้างอิง
http://tuksaatibay.blogspot.com
http://www.gotoknow.org
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)